top of page

ข่าวประชาสัมพันธ์ : เจาะลึก "เวียดนาม" สางวิกฤติขยะล้นเมือง ต้นแบบที่ไม่อาจมองข้าม


ปัญหาสำคัญที่หลายประเทศในอาเซียนต่างประสบและเร่งแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนาม ปัญหาขยะล้นกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งสะสาง สาเหตุเกิดจากสิ่งของเหลือกินเหลือใช้ของคนเมือง มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” ได้มีโอกาสไปดูงานการกำจัดขยะที่ประเทศเวียดนามพร้อมกับบริษัท สยามอินซินเนอร์เรเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยที่ได้รับเลือกจากบริษัท กรีนเอนเนอจี้ อินดัสเตรียล ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศเวียดนาม ให้บริหารจัดการขยะใน 5 เมืองตอนกลางของประเทศ คือ ดาลัท ดั๊กเดื่อง หล่ากเดื่อง หล่ามฮา และ ดึ๊ก จอง โดยมี ดาลัท เมืองที่ถูกห้อมล้อมด้วยขุนเขาเขียวขจี เต็มไปด้วยป่าสน ทะเลสาบ พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ปัจจุบันเป็นแหล่งพักผ่อนที่มีชื่อเสียงที่สุดของเวียดนามเป็นศูนย์กลางในการกำจัดขยะ


โดยขยะของทั้ง 5 เมืองมีปริมาณ 180 ตันต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นพลาสติก ผักสด เป็นต้น

ทั้งนี้ แต่เดิมการกำจัดขยะ จะใช้วิธีฝังกลบและเผา ซึ่งก็ต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากชุมชนรอบข้างของพื้นที่ที่จะต้องใช้ทำบ่อขยะ ขณะที่ในแต่ละปีมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการทิ้งขยะของประชาชนที่ผ่านมาทิ้งในหลุมขยะโดยไม่มีการแยกประเภทของขยะ ทั้งขยะครัวเรือน ขยะอันตรายที่เป็นสารเคมี หรือแม้แต่ขยะจากโรงพยาบาลที่ยังติดเชื้ออยู่ การกำจัดจึงลำบาก แม้รัฐบาลพยายามรณรงค์ด้วยการคัดแยกจากครัวเรือนและจบด้วยขั้นตอนการเผาทำลาย แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เนื่องจากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร

“รัฐบาลเวียดนาม จึงแก้ปัญหาที่ปลายทางโดยยกภูเขาให้หนึ่งลูก เนื้อที่ประมาณ 4 พันไร่ สำหรับกำจัดขยะเป็นการเฉพาะ การกำจัดขยะบนภูเขาจึงไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวน ที่สำคัญไม่มีปัญหาเรื่องต้องย้ายคนออกจากชุมชน” นายชู แวนโชว์ ผู้จัดการบริษัท กรีนเอนเนอจี้ อินดัสเตรียล ระบุ

นายชู แวน โชว์ ยังฉายภาพต่อว่า เมื่อมีพื้นที่ สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อคือการนำเทคโนโลยีเตาเผาขยะปลอดมลพิษมาใช้ เนื่องจากดาลัทเป็นเมืองท่องเที่ยว การสร้างมลพิษจากการกำจัดขยะที่ไม่ถูกวิธี จึงไม่สมควร เพราะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ก่อนจะมาลงตัวกับเตาเผาขยะของบริษัท สยามอินซินเนอร์เรเตอร์ จำกัด จากประเทศไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ ไปดูงานเตาเผาขยะมาหลายประเทศทั้ง เยอรมนี ฝรั่งเศส เป็นต้น แต่ไม่ถูกใจ

ขณะที่ น.ส.พลอยทราย ภัสสรศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามอินซินเนอร์เรเตอร์ จำกัด ระบุถึงความสามารถของเตาเผาขยะจากประเทศ ไทย ว่า “เวียดนามสนใจเตาเผาขยะชุมชนไร้มลพิษของเราเพราะมองว่าเป็นระบบไร้มลพิษ ไร้ควัน ไร้กลิ่น เพราะใช้ระบบลมแทนเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ มีประสิทธิภาพสามารถกำจัดขยะ ได้ชั่วโมงละ 600 กิโลกรัม เผาไหม้ใน 15 นาที ใช้ความร้อน 850 องศาฯ เผาขยะได้วันละ 15 ตันต่อวันต่อเครื่อง ขณะนี้ติดตั้งไปแล้ว 1 เครื่อง กำลังจะติดตั้งเครื่องที่สองในเร็วๆนี้”

สำหรับเตาเผาขยะชุมชนไร้มลพิษ ไร้กลิ่นไร้ควัน ถูกออกแบบและพัฒนาให้ทันสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยระบบการทำงานและหลักการในการกำจัดมลพิษก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ จึงทำให้อากาศที่ถูกปล่อยออกมาหลังจากการเผาไหม้สะอาด โดยก่อนเผาจะมีการคัดแยกขยะ สำหรับเผา ฝังกลบและนำไปทำปุ๋ย ทั้งนี้ขยะที่นำไปเผาในเตาเผา จะมี 4 ชั้น ชั้นแรกซึ่งเป็นชั้นล่างจะบรรจุพลังงานลม ชั้นสองเป็นห้องสตาร์ตในการเผา ชั้นสามเป็นห้องโล่งสำหรับการเผาและเปลวไฟ และชั้นสี่เป็นห้องเผาซ้ำและกำจัดควัน

“นอกจากติดตั้งเตาเผาขยะแล้ว บริษัท สยามอินซินเนอร์เรเตอร์ จำกัด ต้องบริหารจัดการพื้นที่ในการกำจัดขยะ โดยมีการปลูกต้นกาแฟ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม แปลงผักและเลี้ยงวัวเพื่อให้คนงานได้ใช้ประโยชน์ และเวียดนามยังให้ความสนใจเตาเผาขยะชุมชนไร้มลพิษ ไร้กลิ่นไร้ควันของประเทศไทย โดยให้นำไปติดตั้งในอีก 7 เมืองสำคัญ อาทิ เบ๊นแจ ฮาติงห์ บาวล็อค เป็นต้น” น.ส.พลอยทราย กล่าว

แต่เมื่อหันกลับมาที่ประเทศไทย สิ่งที่เราอดไม่ได้ที่จะเสียดายและเศร้าใจแทนคนไทย คือ ทั้งๆที่ประเทศไทยมี “โรดแม็ปการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย” ที่เริ่มต้นด้วยความคึกโครม แต่จนถึงขณะนี้กลับเงียบ ยังไม่มีความคืบหน้ามากนักถึงเวลาหรือยังที่ รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเหลียวหลังมามองวิกฤติขยะล้นเมืองของประเทศไทยที่พร่ำบอกว่าเป็นวาระแห่งชาติด้วยความจริงใจและจริงจังเสียที

อย่าให้ประเทศไทยถูกตราหน้าว่า “ล้าหลังประชาคมอาเซียน” กระทั่งเรื่อง “ขยะล้นเมือง” เลย!

47 views0 comments
bottom of page